Outsource ได้ยินมานานแล้ว แต่ Outsource คืออะไร ?
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Outsource มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาย IT หรือ Information Technology ที่มักจะมีการจ้างงาน Outsource เป็นอัตราส่วนที่ มากกว่าสายงานอื่นๆ
Outsource ก็คือการจ้างงานประเภทหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพผมขอยกตัวอย่าง บริษัท ก. กำลังพัฒนาซอฟท์แวร์ ให้กับหน่วยงานรัฐบาล กำลังต้องการใช้งานคนอย่างเยอะ บริษัท ก. จึงอยากจะจ้างคนเพิ่ม แต่เอาแค่ 6 เดือนตามที่โครงการกำหนดพอ ครั้นจะจ้างพนักงานประจำ พอหลังจาก 6 เดือนก็ไม่ต้องใช้คนเยอะอย่างนี้อีกแล้ว ก็จ้างไม่ได้ ครั้นจะจ้าง ฟรีแลนซ์ ก็ต้องให้เค้าเข้ามาทำงานที่ไซต์งานทุกวัน ฟรีแลนซ์ส่วนมากจะไม่มาทำ ดังนั้นจึงคิดจ้าง Outsource โดยมีระยะเวลาการจ้าง 6 เดือน
บริษัท ก. จึงติดต่อไปยัง บริษัท อ. ที่เป็นบริษัทส่ง Outsource ให้ส่งคนมาทำงานให้ 6 เดือน บริษัท อ. นั้นมีการจ้างคนไว้เป็นพนักงานประจำอยู่แล้ว เมื่อมีงานเข้ามา ไม่รอช้า จึงส่งคนออกไปทำงานที่ไซต์งาน บริษัท ก.
เราเรียกบริษัท ก. ว่าบริษัทผู้ว่าจ้าง หรือลูกค้าของบริษัท Outsource ส่วน บริษัท อ. นั้น เราเรียกว่า บริษัท ต้นสังกัด Outsource และสถานที่ที่พนักงาน Outsource ต้องเข้าไปนั่งทำงาน เราเรียกว่า ไซต์งานนั่นเอง
อีกจุดเด่นหนึ่งของ Outsource ก็คือ คนที่บริษัทต้นสังกัดส่งไป จะต้องสามารถทำงานได้ โดยมีการเรียนรู้งานไม่มากนัก เทียบได้กับ นักบัญชี ที่มีความรู้เรื่องบัญชีอยู่แล้ว แต่ถูกส่งไปทำบัญชีที่บริษัทรถยนต์ เมื่อเรียนรู้ระบบการทำงาน เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำงานได้เลย ไม่ต้องมาเรียนรู้งานใหม่ทั้งหมด
บริการ Outsource ในปัจจุบัน อาจจะมีชื่อเรียก แตกต่างกันไปบ้าง อย่างเช่น Professional Service (บริการผู้เชี่ยวชาญ), Consulting Service (บริการที่ปรึกษา) หรือ Business Solutions (คำตอบทางธุรกิจ) อาจจะฟังดูประหลาดหน่อย แต่ถ้ามีการส่งคนไปทำงานที่บริษัทผู้ว่าจ้างแล้ว บริษัทเหล่านี้ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นบริษัท Outsource
หลักการของบริษัทต้นสังกัด Outsource ก็คือ รับสมัครผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่ทำงานได้เข้ามาในบริษัทของตน แล้วถ้าลูกค้ารายไหนต้องการ คนที่ทำงานได้ตามที่ลูกค้ากำหนด (หรือ ความสามารถเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ) บริษัทต้นสังกัด Outsource ก็จะส่งคนไปทำงานที่บริษัทผู้ว่าจ้าง แต่ผู้ว่าจ้างบางที่ก็อาจจะเข้มงวดหน่อย มีการสอบก่อนเข้าทำงานก็มีได้
การจ้างงานของบริษัทต้นสังกัด มีแบบไหนบ้าง
รูปแบบการจ้างงานของบริษัทต้นสังกัด จะมีรูปแบบหลักๆอยู่ 2 แบบ คือ
จ้างเป็นพนักงานประจำของบริษัทต้นสังกัด การจ้างพนักงาน Outsource มาเป็นพนักงานประจำก็จะเหมือนบริษัททั่วไป และมีผลประโยชน์เหมือนบริษัททั่วไปทุกอย่าง ตั้งแต่เงินเดือน โบนัส ประกันสังคม ประกันกลุ่ม แต่ทั้งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องแล้วแต่ตกลงตอนสัมภาษณ์นะครับ
จ้างเป็นพนักงานแบบ Contract ของบริษัทต้นสังกัด การจ้างพนักงาน Outsource แบบ Contract ก็คือ การจ้างแบบมีสัญญาจ้างตามระยะเวลา อย่างเช่น จ้าง 3 เดือน จ้าง 6 เดือน เป็นต้น แบบ Contract นี้ บริษัทต้นสังกัด มักจะไม่มี สวัสดิการอะไรให้มากนัก ต้องแล้วแต่ตกลง แต่ที่แน่ๆก็คือ ได้เงินเดือนเยอะกว่าแน่นอน เพราะ พนักงาน Outsource จะต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องการไม่มีงานทำเป็นบางช่วงเอาเอง
แล้วทำไมบริษัท หรือองค์กรใหญ่ๆ ไม่จ้างบุคคลมาทำงานเป็น Contract ตรงๆเลย
บริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ ก็ป้องกับความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะว่า บริษัทหรือองค์กร ก็ไม่รู้ว่า คนที่ส่งมาจะมีคุณภาพอย่างไร ในกรณีที่รับไม่ได้กับคุณภาพ บริษัทผู้ว่าจ้าง สามารถส่งกลับ แล้วขอคนใหม่ได้ และถ้าเลวร้ายจนถึงสร้างความเสียหาย ก็สามารถฟ้องร้องบริษัทต้นสังกัด Outsource ได้ด้วย
แต่ถ้าบริษัทผู้ว่าจ้าง มีความสนิทหรือรู้จักคนที่มีฝีมือบางคนอยู่แล้ว บริษัทผู้ว่าจ้าง ก็มักจะเลือกจ้างพนักงาน Outsource ตรงๆ โดยไม่ผ่านบริษัทต้นสังกัด เพื่อเป็นการลดค่าบริการได้เหมือนกัน
บริษัท Outsource vs บริษัทจัดหางาน
คงมีคนสงสัยว่าบริษัทสองประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร ลองมาดูความแตกต่างกันครับ
บริษัทต้นสังกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบเงินเดือน และสวัสดิการของพนักงาน Outsource โดยตรง ส่วนบริษัทจัดหางาน จะแค่เก็บค่าบริการในการส่งคนไปทำงาน และบริษัทผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินเดือน และสวัสดิการของพนักงานเอาเอง
บริษัทจัดหางาน เมื่อส่งคนไปทำงานจนครบระยะเวลาหนึ่ง ก็จะจากไป เพราะหมดเวลาเก็บค่าบริการ หรือภาษาชาวบ้านเราเรียกว่าค่าหัวคิวนั่นเอง
บริษัท Outsource เมื่อส่งคนไปทำงานครบตามกำหนดสัญญาแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินเดือน พนักงาน Outsource ที่เป็นพนักงานประจำต่อไป และต้องคอยหาโปรเจคใหม่ให้พนักงาน Outsource ไปทำงาน ในช่วงที่ยังไม่มีโปรเจค บริษัท Outsource อาจจะให้พนักงาน Outsource ไปเทรน หรือเข้าไปนั่งที่สำนักงาน เพื่อเพิ่มพูนทักษะของตัวเองก็ได้
บริษัท Outsource ที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร
มีสวัสดิการอย่างน้อย ต้องเทียบเท่ากับ บริษัททั่วไป อย่างเช่น วันลา วันหยุด ค่าล่วงเวลา ประกันสังคม หรือสวัสดิการอื่นๆ ตามแต่จะมีเพิ่มเติม
มีส่วนสงเสริมการพัฒนาทักษะของพนักงาน เช่น มีการส่งไปอบรมเพิ่มเติมความรู้ สนับสนุนให้สอบใบประกาศนียบัตรต่างๆ
มีไซต์งานที่หลากหลาย มีงานหมุนเวียน ไม่ปล่อยให้พนักงานไม่มีงานทำ บางครั้งการไม่มีงานทำนานๆ อาจจะทำให้พนักงานเบื่อและอยากหางานอื่นทำได้
มีสำนักงานที่แน่นอน บริษัท Outsource ที่เปิดมานานมักจะมีสำนักงานที่แน่นอน ซึ่งจุดนี้ สามารถทำให้พนักงานแน่ใจถึงความมั่นคงในระดับหนึ่งได้ แต่ก็มีบริษัท Outsource รุ่นใหม่บางแห่ง ที่ทำเป็น Officeless คือ ไม่มี Office และมักจะให้เงินเดือนสูงกว่าที่อื่น เพราะจะต้องจูงใจพนักงาน ให้เชื่อถือถึงความมั่นคง และสวัสดิการ
ไม่เห็นพนักงานเป็นแค่สินค้า หรือแรงงาน ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะจะนำมาซึ่งความใส่ใจพนักงาน Outsource จนส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้มากขึ้น และพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น
ข้อดีของการเป็น Outsource ล่ะ มีอะไรบ้าง
รายได้ดี ถ้าเทียบตำเหน่งเดียวกัน ระหว่าง Outsource กับพนักงานประจำทั่วไป พนักงาน Outsource มักจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า เพราะ ถือว่า พนักงานเป็นผู้เชี่ยวชาญ สามารถทำงานได้ทันที และอีกประการหนึ่งก็คือ ค่าล่วงเวลา หรือ O.T. นั่นเอง พนักงานประจำทั่วไป บริษัทอาจจะมีขอให้ทำงานล่วงเวลา และถ้าไม่ได้มี นโยบายจ่าย หรือบันทึก O.T. พนักงานก็จะไม่ได้ค่าล่วงเวลา แตกต่างกับบริษัท Outsource ที่เก็บเงินเป็นรายชั่วโมงอยู่แล้ว ถ้าบริษัทผู้ว่าจ้างอยากใช้งานพนักงาน Outsource ล่วงเวลา จะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้
มีสวัสดิการ เหมือนพนักงานทั่วไป นอกจากสวัสดิการทั่วไป อย่างวันลา ประกันสังคม และเงินเดือนแล้ว บริษัท Outsource บางแห่งยังมี ประกันสุขภาพแบบกลุ่ม ให้กับพนักงานของตัวเองอีกด้วย
สามารถบริหารเวลาได้ดีกว่าพนักงานประจำ เนื่องจากการใช้งานล่วงเวลา ถ้าเป็นการจ้าง Outsource จะต้องจ่ายมากกว่าพนักงานประจำ โดยทั่วไปแล้วบริษัทผู้ว่าจ้าง จะไม่ใช้งานพนักงาน Outsource จนเกินเวลาในแต่ละวัน มีน้อยครั้งที่จำเป็น บริษัทผู้ว่าจ้างจะช่วยให้อยู่เกินเวลา แต่นั่นก็แลกได้กับรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย สาเหตุนี้เอง ที่ทำให้พนักงาน Outsource สามารถมาทำงานและกลับบ้านตรงเวลาและบริหารชีวิตได้ดีกว่าพนักงานประจำ
มีความยืดหยุ่น ถ้าวันหนึ่งพนักงาน Outsource มีความจำเป็นที่จะขอย้ายไซต์งาน ก็สามารถบอกกับบริษัทต้นสังกัดได้ว่าขอย้ายไซต์งาน บริษัทต้นสังกัดก็จะสามารถจัดหาไซต์งานใหม่ให้ได้ ถ้าบริษัทมีไซต์งานหมุนเวียน
มี Connection ที่หลากหลาย เพราะ Outsource ไม่ได้ทำงานที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำนานมาก Outsource จึงมีโอกาส ในการพบปะผู้คนมากกว่าพนักงานประจำ การสร้าง Connection จะส่งผลดีต่อเราในอนาคต ทั้งในกรณีที่ต้องการหางานใหม่ หรือจะขยายไปทำธุรกิจส่วนตัวก็ยังได้
แล้วข้อเสียของการเป็น Outsource ล่ะมีไหม ?
เราจะต้องมีความตื่นตัว และหมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลาที่เป็น Outsource เพราะว่า ลูกค้ามีความคาดหวังการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพของเรา
ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างบ่อย เพราะ Outsource มักมีการเปลี่ยนไซต์งาน เราจะต้องไปเรียนรู้องค์กรแต่ละองค์กรที่เราเข้าไปทำงานใหม่ ทุกครั้งที่มีการย้ายไซต์
ความต้องการใช้งาน Outsource อยู่ที่ลูกค้า ถึงแม้ว่าเราจะชอบองค์กร หรือไซต์งานที่เราเข้าไปทำ แต่เมื่อลูกค้าไม่ต่อสัญญา เราก็ต้องย้ายไปทำไซต์งานอื่น
ถ้าไม่มีประสบการณ์ล่ะ จะเป็น Outsource ได้หรือไม่ ?
ตอบเลยว่าได้ครับ แต่มีข้อแม้นิดหน่อยคือ
เราต้องมีผลงานให้เห็น อาจจะเป็นผลงานที่ผ่านมาจากการทำงานฟรีแลนซ์, ผลงานตอนเรียนจบ หรือผลงานที่เคยส่งเข้าประกวด
ถ้าเรามีใบประกาศนียบัติเพิ่มเติม อย่าง Certificate ต่างๆ ที่เราไปสอบมา ก็จะง่ายขึ้นอีกมาก
ถ้ามีประวัติการทำงานที่ผ่านมา ย่อมได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษอยู่แล้ว
ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องกันสักที ว่าการเป็น Outsource มืออาชีพนั้น มีเคล็ดลับประสบความสำเร็จอย่างไรกันบ้าง
ขยันสอบวัดความรู้ ในช่วงแรกของการเป็น Outsource วิธีการที่จะได้ปรับเงินเดือน เร็วที่สุดก็คือ การสอบวัดความรู้ หรือการสอบ Certificate ต่างๆ นั่นเอง การสอบมีผลดีคือ นอกจากได้ใบประกาศมาประดับบารมีแล้ว ยังได้ความรู้ที่เกิดจากการสอบด้วย เมื่อสอบได้คะแนนดี ก็สามารถแนบกับประวัติการทำงานของตัวเอง เพื่อปรับเงินเดือนให้สูงขึ้นอีกก็ได้
ยอมรับความเสี่ยง โดยการเป็น Contract คือเป็น Outsource รายสัญญาจ้างนั่นเอง การเป็น Contract มีความเสี่ยงก็จริงอยู่ แต่ถ้าเรามีความมั่นใจจริงๆ และมีความตั้งใจ เราก็สามารถทำได้ ขอยกตัวอย่างในกรณีที่เป็นพนักงานประจำ ในกรณีที่เรามีการสอบ หรือเรียนต่อเรียบร้อยแล้ว อาจจะมีการปรับเงินเดือนที่ไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากแบบ Contract เมื่อหมดสัญญาแล้ว สามารถต่อรองใหม่ได้เลย ไม่ขึ้นกับฐานเงินเดือนในปัจจุบัน ถ้าคิดว่ารับความเสี่ยงได้เป็น Contract ได้รับค่าตอบแทนดีกว่าแน่นอน
ภาษาใครว่าไม่สำคัญ การที่เราสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ หรือพูดภาษาอื่นๆได้ มันทำให้เราเป็นต่อ มากกว่า พนักงานประจำหรือ Outsource คนอื่นๆ แถมยังสามารถเรียกอัตราค่าตอบแทนที่สูงกว่าได้ด้วย ถ้าต้องไปทำงานกับชาวต่างชาติ ดังนั้น ฝึกเถอะครับภาษาไม่เสียหาย แถมยังได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีก
ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยที่ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ลูกค้าอยากให้ทำอะไร ก็พยายามทำให้ได้โดยไม่ปริปากบ่น แต่ในกรณีที่ไม่ไหวจริงๆ อันนี้ก็ต้องกลับมาทบทวนอีกทีหนึ่ง การให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีข้อดีก็คือ เราจะได้รับ Feedback ที่ดี ซึ่งมีผลต่อการขึ้นเงินเดือน และต่อสัญญาครั้งต่อไป
สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะกับเพื่อนร่วมงาน กับเจ้านาย หรือว่ากับลูกค้าคนใดก็ตาม ถ้าเป็นไปได้อย่ามีเรื่องบาดหมางใจกัน การยอมไม่ได้เรียกว่าแพ้ เพราะการยอมหลายครั้งเราไม่ได้รับความเสียหายอะไรเลย การยอมคือการวางอีโก้ของเราลง บางครั้งถึงแม้เราจะรู้อะไรดีกว่า แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงออกบ้าง เราจะดูดีขึ้นในสายตาคนอื่นอย่างมากมาย
รู้จักการทำงานที่เป็นระบบ อย่าพยายามทำนอกระบบ เพราะการทำงานในระบบจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงาน แม้ว่าบางทีระบบจะเชื่องช้า หรือดูเทอะทะไปบ้าง แต่การทำงานเป็นระบบ จะช่วยป้องกันเราเวลาเกิดการขัดแย้งขึ้น กลับกันถ้าเราไปทำนอกระบบ เวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้น รับรองโดนจัดหนักแน่ๆ
ตั้งเป้าหมายครับ ชีวิตนี้จะประสบความสำเร็จได้คนเราจะประกอบด้วยสามอย่าง คือ เป้าหมาย + ความรู้ความสามารถ + การทำให้เกิดผล ซึ่ง เป้าหมายจะเป็นตัวแรกที่ทำให้เกิดแรงผลักดันให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย เมื่อเรียนรู้แล้ว เราก็จะออกแรงกระทำให้มันเกิดผล ชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จได้ ไม่ยากครับ
ผมอยากทิ้งท้ายไว้นิดนึงสำหรับบทความนี้ ให้กับคนรุ่นใหม่ไฟแรงในยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบันกระแส Startup กำลังโหมกระพืออย่างหนัก เด็กจบใหม่หลายต่อหลายคนมีแรงบันดาใจอยากเป็น Startup แต่ส่วนมาก ยังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร รู้แค่ว่าตัวเองอยากเป็น Startup ผมแนะนำว่า