5 หมวดคำถามสัมภาษณ์งานภาษาอังกฤษที่ HR ควรเตรียมตัว
- ประวัติการศึกษา (Education Background)
สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าประวัติการศึกษาคือข้อมูลด่านแรกที่สำคัญที่สุดที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะหยิบมาพิจารณา ข้อมูลในส่วนนี้นอกจากจะบอกว่าแต่ละคนเรียนอะไรมาบ้างแล้ว เอื้อประโยชน์ต่อตำแหน่งงานนี้ได้มากน้อยเพียงไร มันยังใช้วิเคราะห์ความรับผิดชอบของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าเกรดเฉลี่ยเป็นเพียงตัวเลข แต่มันก็เป็นมาตรฐานวัดค่าความสามารถที่ฝ่ายบุคคลจะรู้จักแต่ละคนได้ดีที่สุดในเวลาอันสั้น รวมถึงสถาบันการศึกษาเองก็จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่การันตีคุณภาพของแต่ละคนในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดีเช่นกัน เป็นเรื่องยากที่บริษัทจะทำความคุ้นเคยหรือรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณในเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่จะช่วยทำให้ประเมินเบื้องต้นได้ก็คือประวัติการศึกษานั่นเอง - ประสบการณ์การฝึกงาน (Internship Program) และ กิจกรรมระหว่างเรียน (Activity)
แน่นอนว่านิสิตนักศึกษาจบใหม่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานจริงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะช่วยทดแทนจุดนี้ได้ดีที่สุดก็คือประสบการณ์การฝึกงานรวมถึงการทำกิจกรรมระหว่างศึกษาอยู่ บางบริษัทมีระบบการฝึกงานให้กับนิสิตนักศึกษาอย่างจริงจัง ก็จะเกิดประโยชน์และเป็นข้อได้เปรียบกว่า การทำกิจกรรมในสมัยเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันจะช่วยฝึกทักษะในการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการบริการงานไปจนถึงการทำงานร่วมกับผู้อื่น บางครั้งประสบการณ์จากการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยยังเทียบเท่าได้กับการทำงานจริง และอาจฝึกทักษะได้ดีกว่าการฝึกงานเสียด้วยซ้ำ
ยุคนี้การทำงานเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก อายุอาจไม่ใช่เกณฑ์สำคัญเสมอไป เด็กรุ่นใหม่บางคนอาจรับงานฟรีแลนซ์ที่เป็นงานจริงตั้งแต่ยังเรียนอยู่ หรืออาจทำงานนอกเวลาเรียน หรือไม่ก็เริ่มต้นทำธุกิจของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ ซึ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์การทำงานที่มีค่าทั้งสิ้น
3.บุคลิกภาพ (Personality)
บุคลิกภาพไปจนถึงการแต่งกายนั้นนอกจากจะสะท้อนรูปลักษณ์ภายนอกให้คนอื่นรู้จักแล้ว มันยังเป็นเครื่องแสดงกาละเทศะรวมถึงการให้เกียรติผู้อื่นไปในตัวด้วย นอกจากกิริยามารยาทแล้ว การแต่งตัวให้ถูกกาละเทศะก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงาน อย่างเช่น การทำงานในองค์การด้านการเงิน อาจต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย ภูมิฐาน น่าเชื่อถือ หรือหากทำงานในองค์กรด้านความสร้างสรรค์ การแต่งกายที่ไม่เป็นทางการจนเกินไป เป็นตัวของตัวเอง แต่พอเหมาะพอควร ก็อาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า เพราะนอกจากความสามารถ หรือโปรไฟล์แล้ว สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลใช้ประเมินผู้สมัครเบื้องต้นเสมอ
4.ทัศนคติ (Attitude) และ การสร้างสรรค์ (Creativity)
ในยุคหลังๆ นี้ทัศนคติเริ่มเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกผู้สมัครงานมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนฝีมือเก่งฉกาจแต่ทัศนคติแย่หรือแตกต่างจากคนอื่น ก็อาจทำให้งานล้มเหลวได้ แต่หลายคนฝีมือการทำงานอาจอยู่ในระดับกลาง แต่มีทัศนคติในการทำงานที่ดีเยี่ยม ก็อาจสร้างความสำเร็จได้มากกว่าเช่นกัน
สำหรับนิสิตนักศึกษาจบใหม่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมักอยากได้คนที่มีทศนคติในเชิงบวก (Positive Attitude) เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่องานแล้วยังเกิดผลดีต่อการร่วมงานกับผู้อื่นอีกด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีคะแนนเหนือกว่าก็คือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบริษัทมักอยากจะได้จุดนี้เข้ามาช่วยพัฒนาองค์กรของตน ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไอเดียที่แปลกแหวกแนวเสมอไป อาจเป็นแค่มุมมองใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ หรือวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่ช่วยให้งานดีขึ้นก็ได้เหมือนกัน
5.ความรู้ทั่วไป (General Knowledge) และ ความรู้เกี่ยวกับองค์กร (Company Knowledge)
เด็กจบใหม่มักจะมีความรู้เชิงลึกในธุรกิจน้อยกว่าผู้ที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะใช้วัดกึ๋นแทนก็คือเรื่องของความรู้ทั่วไปที่จะสะท้อนความรอบรู้, การวิเคราะห์, หรือแม้กระทั่งความกระตือรือร้นของแต่ละคนได้
สิ่งจำเป็นที่ผู้สมัครงานทุกคนควรทำการบ้านมาอีกอย่างก็คือความรู้เกี่ยวกับองค์กร เพราะมันสามารถสะท้อนได้ว่าคุณอยากจะทำงานกับองค์กรนี้มากเพียงไร และในยุคที่ข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย การรู้ในเชิงลึกก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก ซึ่งหากเด็กจบใหม่มีความรู้ในธุรกิจของบริษัทได้กว้างและลึกมากขึ้นก็จะยิ่งได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นอีกด้วย
คะแนนบวกเพิ่ม
- ภาษา (Languages) :ภาษาเป็นเสมือนคะแนนพิเศษที่ช่วยยกระดับผู้สมัครงานได้ดี หากความสามารถตลอดจนคะแนนจากเกณฑ์อื่นๆ เท่ากันหมด ภาษานี่แหละอาจเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้คุณเฉือนชนะคู่แข่งได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มักจะมีทักษะภาษาดีกว่า ฉะนั้นการเรียนหรือฝึกด้านภาษาอื่นเพิ่มเติม จะเป็นข้อได้เปรียบที่ดีทีเดียวสำหรับเด็กจบใหม่
- ทักษะทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (Computer & Technology Skills) : ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานแทบทุกตำแหน่ง และบางงานการมีความรู้หลากหลายโปรแกรมก็เป็นประโยชน์ได้ด้วย การรู้แค่ MS Office อาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ต้องกรอกในใบสมัครไปแล้ว แต่การมีความรู้โปรแกรมอื่นเพิ่มเติมอาจจะเป็นตัวเสริมที่ดี อย่างเช่น Keynote ที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำ presentation สวยๆ, Photoshop ที่ทำให้ปรับแต่งภาพได้ดีขึ้น, หรือแม้แต่ App เสริมที่ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น เป็นต้น หากเรามีทักษะที่มากกว่าคนอื่น ก็จะยิ่งเป็นคะแนนบวกให้กับการสมัครงานของตัวเองได้
- รางวัล (Awards) :สิ่งหนึ่งที่จะทำให้โปรไฟล์ของนักศึกษาจบใหม่เหนือกว่าคู่แข่ง หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้วก็คือการได้รับรางวัลการันตีใดๆ จากสถาบันหรือการแข่งขันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยการรันตีความสามารถของคุณได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง